จากหนังสือ "ตามรอยพญานาค" ของ อ. อุดม เชยกีวงศ์ ในนั้นมีเรื่องพญานาคในแง่มุมต่างๆ มากมาย ทั้งในตำนานไทย-ลาว ในพระไตรปิฎก รวมไปถึงประสบการณ์ของพระอริยสงฆ์ขณะธุดงค์ด้วย
เรื่องกำเนิดแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่าน เป็นเหตุมาจากการวิวาทของพญานาคสองตัวที่หนองแส (หรือหนองกระแส) แต่รายละเอียดจะต่างกันเล็กน้อย ระหว่างตำนานของลาว ตำนานสุวรรณโคมคำ และตำนานคำชะโนด
ตำนานลาว บอกว่า ครั้งปฐมกัลป์ มีนาคสองตัวเป็นมิตรสหายกัน อาศัยที่หนองแส คือพินทโยนกวตินาค เป็นใหญ่อยู่ในหนอง และธนะมูลนาค เป็นใหญ่อยู่ท้ายหนอง มีหลานชื่อชีวายนาค นาคทั้งสองตกลงกัน ว่าถ้าได้อาหารมาจะแบ่งกันกิน
อยู่มาวันหนึ่ง มีช้างตัวหนึ่งตายที่ท้ายหนอง ธนะมูลนาคจัดการแบ่งเนื้อช้างเป็นสองส่วน ให้พินทโยนกวตินาคส่วนหนึ่ง ตนกินเองส่วนหนึ่ง ต่อมา มีเม่นมาตายที่หัวหนอง พินทโยนกวตินาคก็แบ่งเป็นสองส่วน แบ่งให้ธนะมูลนาคและกินเองอย่างละส่วน แต่ธนะมูลนาคกินเนื้อเม่นแล้วไม่อิ่ม และบังเอิญไปเห็นขนเม่นยาวตั้งศอก ยาวกว่าขนช้างมากมาย คิดว่าเม่นน่าจะใหญ่กว่าช้างเป็นแน่ จึงโกรธที่พินทโยนกวตินาคหวงเนื้อเม่นไว้กินเอง ทั้งๆ ที่ตนก็แบ่งเนื้อช้างตามที่ตกลงกัน จากนั้น นาคทั้งสองจึงทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง จนน้ำขุ่นไปทั้งหนอง สัตว์ใหญ่น้อยล้มตาย ร้อนถึงพระอินทร์ต้องส่งพระวิสสุกรรมลงมาขับไล่นาคทั้งสองออกจากหนองแส และทำให้นาคอื่นๆ ต้องอพยพไปสู่ที่อื่นไปด้วย โดยระหว่างทางก็ขุดคุ้ยดินจนลึกกลายเป็นคลอง ชีวายนาคขุดจนเกิดแม่น้ำอู (อุรังคนที) เลยไปถึงชีวายนที ธนะมูลนาคก็ขุดจนเกิดแม่น้ำมูล ส่วนพินทโยนกวตินาค ก็ขุดจนเกิดแม่น้ำพิง และเมืองที่ตั้งอยู่ก็ได้ชื่อโยนกตามชื่อนาคตัวนั้น ส่วนนาคตัวอื่นๆ ก็ขุดคุ้ยดินเกิดแม่น้ำสายต่างๆ
เรื่องนาคอพยพ เป็นตำนานที่ชนพื้นเมืองหนองแสซึ่งกระจายถิ่นฐานลงมาตามลุ่มน้ำต่างๆ ทางสุวรรณภูมิจะเล่าขานกันอยู่เนืองๆ
ตำนานสุวรรณโคมคำ มีโครงเรื่องคล้ายกัน โดยนาคที่อยู่ทางทิศเหนือ ชื่อพญาสุตตนาค ส่วนนาคที่อยู่ทางทิศใต้ ชื่อพญาศรีสัตตนาค หลังจากมีเรื่องวิวาทเนื้อช้างเนื้อเม่นกันแล้ว พญาสุตตนาคเห็นว่าพญาศรีสัตตนาคคงมีกำลังสู้พวกของตนไม่ได้ จึงยกกำลังลงมาขับไล่พญาศรีสัตตนาคออกจากหนองแส และจากนั้นมา น้ำจากหนองแสก็ไหลมาตามทางที่พญาศรีสัตตนาคหลบหนีลงมา กลายเป็นแม่น้ำโขง
ตำนานคำชะโนด อยู่ที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานีนี่เอง โครงเรื่องก็คล้ายกับตำนานของลาวอีก โดยนาคที่ได้เนื้อช้างมานั้น ชื่อพญาศรีสุทโธ ส่วนนาคที่ได้เนื้อเม่นนั้น ชื่อพญาสุวรรณ การวิวาทของนาคทั้งสองกินเวลานานถึง 7 ปี สัตว์ต่างๆ ในแถบนั้นเดือดร้อนไปทั่ว ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาตัดสินความ โดยมีโองการให้นาคทั้งสองหยุดรบกัน แล้วให้แยกกันอยู่โดยสร้างแม่น้ำคนละสายจากหนองแส ใครถึงทะเลก่อนจะได้ปลาบึกลงไปอยู่ในแม่น้ำสายนั้น จากนั้นให้เอาภูเขาพญาไฟเป็นเขตกั้น ใครลุกล้ำก็ให้ไฟจากภูเขาพญาไฟไหม้ฝ่ายนั้นเป็นจุลมหาจุล
เมื่อได้รับโองการแล้ว พญาศรีสุทโธก็สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางตะวันออกของหนองแส เจอภูเขาขวางหน้าตรงไหน แม่น้ำก็คดโค้งไปตามภูเขา เพราะพญาศรีสุทโธเป็นนาคใจร้อน แม่น้ำนี้เรียกว่า "แม่น้ำโขง" คำว่า โขง มาจากคำว่า โค้ง คือไม่ตรง
ส่วนพญาสุวรรณ ก็พาบริวารสร้างแม่น้ำลงไปทางใต้ พญาสุวรรณเป็นนาคใจเย็น พิถีพิถัน พยายามสร้างแม่น้ำให้ตรง ซึ่งแม่น้ำนี้เรียกว่าแม่น้ำน่าน ซึ่งเปรียบกับแม่น้ำสายอื่นแล้ว ถือว่าตรงกว่าทุกสาย
ผลก็คือ พญาศรีสุทโธนาคสร้างแม่น้ำโขงถึงทะเลก่อน จึงได้ปลาบึกจากพระอินทร์ ซึ่งปลาบึกนี้ ปรากฏว่ามีที่แม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวในโลก จากนั้น พญาศรีสุทโธได้เหาะขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองมนุษย์ เพราะนาคอยู่ในเมืองมนุษย์นานไม่ได้ พระอินทร์จึงโปรดให้ทางขึ้นลงไว้ 3 แห่ง คือ
ที่พระธาตุหลวงนครเวียงจันทน์
ที่หนองคันแท
ที่พรหมประกายโลก (คำชะโนด)
แห่งที่สาม คือพรหมประกายโลก คือที่ที่พรหมลงมากินง้วนดินจนหมดฤทธิ์กลายเป็นมนุษย์ ให้พญาศรีสุทโธนาคไปตั้งบ้านเรือนครอบครองเฝ้าอยู่ และให้มีต้นคำชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งลักษณะต้นชะโนดเหมือนต้นไม้สามชนิด คือต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาลผสมกัน และในเวลา 1 เดือนจันทรคติ ข้างขึ้น 15 วัน ให้พระยาศรีสุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ เรียกชื่อว่า "เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ"
เรื่องเมืองชะโนดนี้ ซีดีสารคดีไปถ่ายเมืองชะโนดที่เป็นเกาะกลางน้ำ มีต้นชะโนดขึ้นเต็ม อยู่ที่อุดรฯ มาให้ดู และเล่าเพิ่มเติมว่า มีเรื่องเล่าว่าเคยมีคนเมืองคำชะโนดออกมาหยิบยืมข้าวของชาวบ้าน หรือไม่ก็มีการจัดงานฉลองในเมืองชะโนด มีการมาว่าจ้างหนังเข้าไปฉายก็มี เป็นที่เล่าลือจนคนแถวนั้นกลัวไปตามๆ กัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น