วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เครื่องประดับนาฏศิลป์ไทยหัวโขนเศียรครู สินค้า OTOP สร้างรายได้ให้อย่างงาม
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- อาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม 2552 09:39:19 น.
เครื่องประดับนาฏศิลป์ไทยหัวโขนเศียรครู สินค้า OTOP สร้างรายได้ให้อย่างงาม
นาฏศิลป์ไทยหัวโขนและเศียรครูถือว่าเป็นประเพณีความเชื่อของคนโบราณทั้งหลายที่นับถือสืบต่อกันมายาวนานอย่างเรื่องรามเกียรติ์ถือว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าโดยเฉพาะพระนารายณ์เมื่อมีการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ จึงมีพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการแสดงโขนและหัวโขนที่สวมใส่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นตำนานที่ลงตัวจนถึงยุคปัจจุบัน และวิธีไหว้ครูช่างหัวโขนและหัวโขน ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดงโขนเพราะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าผู้นั้นแสดงเป็นตัวอะไรในเรื่องรามเกียรติ์ ช่างแต่โบราณจึงได้คิดประดิษฐ์หัวโขนขึ้นเพื่อให้ผู้แสดงโขนได้สวมใส่ตลอดจนงานประดิษฐ์หัวโขนนั้นถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ ผู้เป็นช่างทำหัวโขนจึงจะต้องผ่านพิธีไหว้ครูและการครอบครูมาก่อน เมื่อประสงค์จะปั้นหน้าครูที่สำคัญ เช่น พระคเณศ พระพิราพ พระภรตฤาษี ถึงแม้จะเป็นผู้ที่มีฝีมือและมีความชำนาญมากสักเพียงใดก็ตาม ก็จะต้องได้รับการมอบหมายจากครูที่เป็นช่างทำหัวโขน พร้อมทั้งพิธีไหว้ครู

ในการแสดงโขนละครผู้ฝึกหัดจนสามารถออกแสดงได้แล้วจะต้องผ่านพิธีครอบโดยในพิธีไหว้ครูนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระประธานในพิธี พิธีครอบครูนี้ถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ และสะอาด ในขณะที่ทำพิธีครอบผู้เป็นศิษย์จะต้องมีความสำรวม แสดงความเคารพ หากแสดงอาการลบหลู่ หรือไม่เชื่อถืออาจเป็นบ้าหรือเสียสติก็เป็นได้ ซึ่งสมัยโบราณเรียกว่า ต้องครู เพชรฉลูกัน คือพระวิษณุกรรม หรือผิดครู ต้องแรงครูโดยหัวโขนเป็นเครื่องสวมศีรษะประเภทหนึ่งสำหรับนักเล่นหรือผู้แสดงมหรสพอย่างหนึ่งที่เรียกว่าโขนใช้สวมใส่ในการแสดงแต่ละคราว หัวโขนนี้นอกจากจะใช้สวมศีรษะหรือปิดบังหน้าผู้แสดงโขนแล้ว หัวโขนยังเป็นศิลปวัตถุประเภทประณีตศิลป์ เป็นงานศิลปะที่ได้รับการสร้างขึ้นอย่างวิจิตรประณีตระการตาด้วยกระบวนการช่างแบบไทยประเพณีที่แสดงออกให้ประจักษ์ในภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ในงานศิลปะแบบไทย หัวโขนจึงเป็นศิลปวัตถุที่มีรูปลักษณะควรแก่การดูชมพร้อมทั้งเก็บรักษาชื่นชมในรูปสมบัติและคุณสมบัติในฐานะศิลปกรรมไทยประเพณีวิธีการตลอดจนกระบวนการทำหัวโขน โดยวิธีการอันเป็นไปตามระเบียบวิธีช่างทำหัวโขนตามขนบธรรมเนียมนิยมอันมีมาแต่ก่อนเก่าในสมัยโบราณและยังคงถือปฎิบัติการทำหัวโขนของช่างหัวโขนบางคนสืบทอดกันต่อมาจนกระทั่งในปัจจุบันนี้

นายอภิวัฒน์ ทัตพรศิลป์ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99/74 หมู่ 1 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เล่าว่าเดิมเป็นช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์และรับจ้างทั่วไปแต่ลูกสาวคนโตชอบทางด้านนาฏศิลป์จึงได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนาฏศิลป์และลูกสาวนำศิลปะต่างๆ กลับมาทำที่บ้านจึงเกิดความสนใจก็เลยไปศึกษาจากตำรับตำราต่างๆ และดูงานตามพิพิธภัณฑ์คือศึกษาด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญแล้วก็เริ่มเรียนรู้ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งลูกสาวคนโตแต่งงานและแฟนของลูกสาวก็หันมาจับอาชีพนี้อย่างเต็มตัว ซึ่งในตอนแรกทำใช้กันเองโดยให้เด็กรำต่อมาก็ได้จดทะเบียนพาณิชย์และก็เริ่มทำชิ้นงานหัวโขนและเศียรครูอย่างจริงจัง วิธีการทำนั้นนำวัสดุกระดาษสา กระดาษข่อยหรือกระดาษฟางโดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งและรักน้ำเลี้ยง รักตีลายสมุกใบตองแห้ง ไม้ตีกระยัง ไม้เสนียดโดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง น้ำมันยาง ปูนแดง ชันผง ทองคำเปลว กระจกสี พลอยกระจก หนังวัวแห้ง สีฝุ่น กาวและแป้งเปียก ยางมะเดื่อและลวดขนาดต่างๆ ทางด้านเครื่องมือแม่พิมพ์หินสบู่ ไม้ตีกระยัง ไม้เสนียด ไม้คลึงรัก มีดตัดกระดาษ เพชรตัดกระจก ไม้ตับคีบกระจก กรรไกร เข็มเย็บผ้า และด้าย สิ่วหน้าต่างๆ และตุ๊ดตู่ เขียงไม้ แปรงทาสี พู่กันขนาดต่างๆ การเตรียมวัสดุที่จะต้องจัดเตรียมขึ้นโดยเฉพาะสำหรับทำเป็นลวดลายต่างๆ ประดับตกแต่งหัวโขนแต่ละแบบ คือ รักตีลาย ซึ่งต้องเตรียมทำขึ้นไว้ใช้ให้พอแก่งานเสียก่อน รักตีลาย ประกอบด้วย รักน้ำเลี้ยง ชัน น้ำมันยาง ผสมเข้าด้วยกัน เอาขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวไปจนงวดเหนียวพอเหมาะแก่การเอาลงกดในแม่พิมพ์หินทำเป็นลวดลาย เช่น กระจังซึ่งแข็งตัวแล้วไม่เปลี่ยนแปลง รักตีลายนี้เมื่อเคี่ยวได้ที่แล้วเอามาปั้นเป็นแท่งกลมยาวประมาณคืบ 1 ใช้ปูนแดงผสมน้ำทาหุ้มให้ทั่ว ห่อด้วยใบตองให้มิดเก็บไว้ใช้สำรองต่อไป การเตรียมหุ่น หุ่นในที่นี้คือ หุ่นหัวโขนแบบต่างๆ ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบสำหรับทำหัวโขน มีดังต่อไปนี้ หุ่นพระ-นาง อย่างปิดหน้า หุ่นยักษ์ โล้นหุ่นยักษ์ ยอดหุ่นลิง โล้นหุ่นลิง ยอดหุ่นชฎา และมงกุฎหุ่นเบ็ดเตล็ด เช่น หุ่นศีรษะฤาษี หุ่นศีรษะพระคเณศ เป็นต้น หุ่นต้นแบบ ที่จะได้ใช้กระดาษปิดทับให้ทั่วแล้วถอดออกเป็นหัวโขน ซึ่งภายในกลวง เพื่อที่จะใช้สวมศีรษะผู้แสดง หุ่นต้นแบบนี้แต่เดิมทำด้วยดินปั้นเผาไฟให้สุก หุ่นหัวโขนชนิดสวมศีรษะและปิดหน้ามักทำเป็นหุ่นอย่างรูปโกลน มีเค้ารอย ตา จมูก ขมวดผม และพอเป็นเค้าๆ ไม่ต้องชัดเจนมากนัก ส่วนในหูนั้นละเอาไว้ยังไม่ต้องทำ เอาไว้ต่อเติมภายหลัง หุ่นหัวชฎา-มงกุฎ ทำเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนบนกลึงรัดเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเป็นจอมแล้วละไว้ตรงส่วนเหนือบัวแวง ซึ่งเป็นที่สวมยอดแบบต่างๆ เช่น ยอดชัย ยอดบัดและยอดทรงน้ำเต้า จากนั้นก็เริ่มหาช่องทางตลาดโดยการไปติดต่อตามร้านค้าและก็เริ่มขายส่งตามตลาดต่างๆ เช่นตลาดพาหุรัดตลาดประตูน้ำ หลังจากนั้นพัฒนาการอำเภอก็ได้สนับสนุนให้ไปออกแสดงงาน OTOP ในปี 2550 ก็ได้รับประกาศรับรองคัดสรร OTOP ระดับสามดาว ต่อมาได้ไปจดโอท็อปเพิ่มเพื่อเป็นการขยายโอกาสหลังจากที่ได้ดาวสินค้าก็เริ่มขายดีมากขึ้น ในเรื่องของการตลาดในตอนนี้มีลูกค้ามาติดต่อไปวางจำหน่ายอย่างมากมายและวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานีและในเขตปริมณฑล ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดีคือตกประมาณเดือนละ 50,000 บาท นอกจากนี้ยังนำชาวบ้านมาฝึกหัดทำชิ้นงานโดยจะให้ค่าแรงตอบแทนและหลังจากฝึกหัดทำจนเกิดความชำนาญแล้วทางตนนั้นจะให้ชิ้นงานไปทำกันเองที่บ้านโดยการเหมาเป็นชิ้นงาน ตั้งแต่ 4 บาท ถึง 50 บาทแล้วแต่ความยากง่ายของแต่ละชิ้นงานนั้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดีคือแต่ละครอบครัวจะมีรายได้พิเศษตกอยู่ที่ครอบครัวละ 3,000 บาท ซึ่งสามารถสร้างเป็นอาชีพให้กับครอบครัว โดยการพลิกวิกฤติกลับเป็นโอกาสสู้ภัยเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง นายอภิวัฒน์ กล่าว

สมยศ แสงมณี/ปทุมธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น